• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ช่วงปีสองปีนี้ โลกวุ่นวายมาก สงครามยูเครนเอย สงครามกาซาเอย ทำให้โลกป่วนไปตามปฏิกิริยาลูกโซ่ไปหมดเอย

    นี่อาจเป็นเหตุผลที่มีคนเขียนมาถามความเห็นผมว่า จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ไหม

    คำตอบคือข่อยบ่ฮู้

    จะให้ได้คำตอบแน่นอน ก็ต้องไปถามคนที่มีพลังเชื่อมจิต

    แต่หากถามความเห็นจากภาพเหตุการณ์ของโลก โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าจะเกิด WW 3

    เหตุผลเพราะดูจากสองสงครามที่กำลังเกิดขึ้น

    ในสงครามยูเครน สหรัฐฯไม่เผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง ไม่แม้จะอนุญาตให้ยูเครนเป็นสมาชิก Big Field (นาโต)

    เพราะหากทำเช่นนั้น ก็เกิดสงครามใหญ่แน่

    การทำสงครามระหว่างชาติที่มีอาวุธปรมาณูด้วยกัน ไม่น่าจะดีนะ

    ในกรณีสงครามกาซา คุณพี่นาทันยาฮูและเหยี่ยวสงครามในวอชิงตันพยายามเหลือเกินที่จะดึงอิหร่านเข้ามาในวงพิพาท โดยถล่มสถานกงสุลอิหร่านที่ดามัสกัส ท้าทายกันตรงๆ

    อิหร่านก็ถล่มกลับ แต่ให้เวลาอีกฝ่าย 5 ชั่วโมงสอยโดรนและขีปนาวุธลง 99 เปอร์เซ็นต์

    อิสราเอลก็ถล่มอีกรอบแบบเบามาก พอเป็นพิธี

    นี่ชี้ให้เห็นว่าทั้งสหรัฐฯและอิหร่าน(ยัง)ไม่อยากทำสงคราม

    คำถามคือสงครามโลกมีประโยชน์ต่อใครบ้าง

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สนามรบไม่ได้อยู่ที่อเมริกา ดังนั้นสหรัฐฯได้ประโยชน์เต็มที่ เป็นชาติอุตสาหกรรมเดียวที่เดินเครื่องจักรผลิตสินค้าต่อไปได้เลย ไม่ต้องสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ และได้กลายเป็นตำรวจโลก

    ครั้งนี้ไม่เหมือนกัน เพราะหลายประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถไปถึงแผ่นดินอเมริกา  รัสเซีย เกาหลีเหนือ จีน อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย

    อีกฝั่งหนึ่ง สหรัฐฯ อังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศส ก็มีระเบิดปรมาณูเช่นกัน

    หากระเบิดลงที่ไหนสักลูก ก็อาจตามมาด้วยอีกหลายลูก

    มันคือ lose-lose situation

    อย่าลืมว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ยังไม่มีการใช้ระเบิดปรมาณูถล่มกัน เพราะไม่คุ้ม

    หล่นใส่นิวยอร์กเมืองเดียวสักลูก ก็ไม่คุ้มแล้ว ต่อให้จีนหรือรัสเซียโดนถล่มไป 20 เมือง

    มองแบบนี้แล้ว ก็เชื่อว่าสงครามยูเครนเอย สงครามกาซาเอย น่าจะดำเนินต่อไป แต่ไม่น่าถึงขั้นสงครามโลกหรือสงครามปรมาณู

    นี่เป็นการอ่านจากเหตุที่เกิดขึ้น ไม่กล้าฟันธง

    แต่กล้าฟันธงว่าสงครามโลกระหว่าง 'มหาอำนาจ' กับธนาคารชาติเกิดเรียบร้อยแล้ว มหาอำนาจยิงขีปนาวุธใส่แบงก์ชาติหลายสิบลูกต่อเนื่อง โชคดีที่ระเบิดด้านหมด

    วินทร์ เลียววาริณ
    6-5-24

    (ภาพจาก Terminator 3: Rise of the Machines)

    0
    • 0 แชร์
    • 10
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา
    0
    • 0 แชร์
    • 4
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เดือนที่ผ่านมา มีข่าวผู้นำสิงคโปร์ถ่ายอำนาจ... เอ้อ! แบบโชกุน

    หนังเรื่อง โชกุน จบลงด้วยการเริ่มของสงครามเซกิงาฮาระ ขุนศึกอิเอยาสึขึ้นเป็นโชกุนคนแรกของระบอบ Tokugawa shogunate (徳川幕府)

    อิเอยาสึเรียนรู้จากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของคนที่มาก่อนเขาว่า เมื่อผู้นำตาย หากรัชทายาทยังเป็นเด็ก มีโอกาสสูงที่จะมีการชิงอำนาจจากรัชทายาท

    และเมื่อชิงอำนาจ ก็มักต้องฆ่ารัชทายาทคนนั้นเสีย เพราะตัดไม้ต้องถอนโคน

    เชื่อว่าเพราะเหตุนี้ อิเอยาสึจึงเลือกลงจากอำนาจก่อนที่เขาตาย ส่งมอบอำนาจให้บุตรชายที่เขาเลือก แล้วคุมหรือฝึกอยู่ห่างๆ (on the job training) เนื่องจากตนยังมีบารมีแก่กล้า จึงไม่มีการชิงอำนาจทายาทของเขา

    อิเอยาสึลงจากอำนาจปี 1605 ตายปี 1616

    เล่นเป็น จบสวย

    โชกุนคนที่สอง Tokugawa Hidetada ลงจากอำนาจ 1623 ตาย 1632

    ระบบถ่ายอำนาจก่อนตายนี้ไม่ตายตัว แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น

    ระบอบ Tokugawa shogunate อยู่ยาวกว่าสองศตวรรษ

    แต่โชกุนหลายคนก็ลงจากอำนาจเมื่อตาย อาจเพราะส่งต่อไม่ทัน หรือยังไม่มีใครเก่งพอรับไม้ต่อ หรือยังหวงอำนาจ

    นี่ก็เป็นระบบที่สิงคโปร์ใช้ ลีกวนยูลงจากอำนาจขณะที่กำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ ส่งอำนาจต่อให้นายกฯคนใหม่ โกช็อกตง แล้วดูอยู่ห่างๆ เขาตายนานหลังจากนั้น

    โกช็อกตงส่งต่อให้ลีเซียนลุง ถึงตอนนี้โกช็อกตงก็ยังมีชีวิตอยู่ดี

    ล่าสุดลีเซียนลุงส่งไม้ต่อให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง

    เมืองไทยก็ส่งต่ออำนาจเหมือนกัน โชกุนส่งอำนาจต่อให้ลูกน้องโชกุน ลูกน้องโชกุนส่งต่อให้โชกุน โชกุนส่งต่อให้ลูกโชกุน...

    ระบบนี้อิเอยาสึคิดไม่ได้

    วินทร์ เลียววาริณ
    5-5-24

    0
    • 0 แชร์
    • 20
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    (ต่อจากสัปดาห์ก่อน)

    ถานเฉิงกับเหยียนจือคุยเรื่องธรรมกันเสมอ บทสนทนาของทั้งสองใช้เป็นที่ศึกษาของนักเรียนเซนในช่วงหนึ่งพันปีต่อมา

    ครั้งหนึ่งถานเฉิงกำลังกวาดลาน เหยียนจือกล่าวว่า "เจ้าขยันทำงานยิ่ง" (บางตำราใช้คำว่า "เจ้าทำงานเร็วเกินไป")

    ถานเฉิงว่า "มีใครคนหนึ่งที่ไม่ขยัน"

    เหยียนจือว่า "ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น เจ้าก็คงต้องมีพระจันทร์ดวงที่สอง"

    ถานเฉิงยกไม้กวาดขึ้นตั้ง กล่าวว่า "ที่นี่มีพระจันทร์อยู่กี่ดวง?"

    เหยียนจือได้ยินแล้วก็นิ่ง แล้วเดินจากไปเงียบ ๆ

    ปริศนาธรรมนี้มีผู้ตีความว่า ความหมายของจันทร์สองดวง (หรือบางทีก็ใช้ สองศีรษะ) เป็นการแสดงสภาวะของการแบ่งความรู้ตัวออกเป็นสองส่วน ยกตัวอย่าง เช่น กายทำงานอย่างหนึ่ง ใจคิดถึงอีกเรื่องหนึ่ง ในทางเซนการเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มี 'พระจันทร์ดวงที่สอง' เป็นเรื่องสำคัญ

    เมื่อเหยียนจือกล่าวว่าอีกฝ่ายขยันทำงานยิ่ง ถานเฉิงมองว่าคำกล่าวนี้เป็นการพูดด้านเดียว เนื่องจากเขายังมีอีกด้านหนึ่งที่ไม่ขยัน ความจริงคือเขาเพียงแต่กวาดพื้น การกระทำของเขาจึงไม่ใช่ทั้งขยันและขี้เกียจ แต่เหยียนจือตีความผิดว่าถานเฉิงแบ่งแยกเป็นสองสภาวะ นั่นคือมีถานเฉิงที่ขยัน และถานเฉิงที่ไม่ขยัน หรือ 'มีพระจันทร์อีกดวงหนึ่ง'

    การที่ถานเฉิงยกไม้กวาดพูดว่า "ที่นี่มีพระจันทร์อยู่กี่ดวง?" จึงเท่ากับท้าทายอีกฝ่ายให้ค้นหาสองสภาวะนั้น เหยียนจือพลันเข้าใจจึงเดินจากไป

    เรื่องพระจันทร์สองดวงนี้เป็นประเด็นที่ศิษย์เซนรุ่นต่อมาใช้สนทนาธรรม ครั้งหนึ่งศิษย์คนหนึ่งถามอาจารย์เซนรุ่น 15 ฝะเหยี่ยนเหวินอี้ ว่า "อะไรคือพระจันทร์ดวงที่สอง?"

    ท่านตอบว่า "ปรากฏการณ์ของจักรวาล"

    "แล้วอะไรคือพระจันทร์ดวงแรก?"

    "จักรวาลของปรากฏการณ์"

    ............

    เหยียนจือเป็นชาวเมืองหยูจางแห่งมณฑลเจียงสี บวชกับอาจารย์ไป่จ้างหนี่ป่าน ก่อนมาศึกษาธรรมกับอาจารย์เย่าซานเหวยเหยี่ยน

    ส่วนถานเฉิงนั้นเกิดในตระกูลหวังที่จงหลิง  บวชเมื่อยังเด็กมากที่วัดซึเหมิน ศึกษากับอาจารย์ไป่จ้างหวยไห่นานถึงยี่สิบปี แต่ก็ไม่ก้าวหน้าเลย เมื่ออาจารย์มรณภาพ เขาได้ไปเยือนอาจารย์อีกหลายท่าน ในที่สุดก็มาเรียน กับอาจารย์เย่าซานเหวยเหยี่ยน และพบกับเหยียนจือที่นี่

    อาจารย์เย่าซานเหวยเหยี่ยนถามเขา "อาจารย์ไป่จ้างหวยไห่สอนอะไรแก่เจ้าบ้าง?"

    "ท่านมักบอกว่า 'อาตมามีคำพูดท่อนหนึ่ง มันมีครบทุกรสชาติ"

    อาจารย์เย่าซานเหวยเหยี่ยนกล่าว "สิ่งที่เค็มก็เค็ม สิ่งที่จืดก็จืด สิ่งที่ไม่เป็นทั้งสองอย่างนี้ก็คือรสชาติปกติ อะไรคือคำพูดที่มีครบทุกรสชาติ?"

    ถานเฉิงตอบปริศนานั้นไม่ได้

    อาจารย์ถามต่อ "และมันเกี่ยวอะไรกับประเด็นการเกิดกับการตายต่อหน้าเจ้า?"

    ถานเฉิงตอบ "ต่อหน้าศิษย์ ไม่มีการเกิดกับการตาย"

    "เจ้าอยู่กับอาจารย์ไป่จ้างหวยไห่นานเท่าไร?"

    "ยี่สิบปี"

    "ยี่สิบปีกับอาจารย์ไป่จ้างหวยไห่ เจ้ายังไม่สามารถกำจัดความเคยชินที่ยึดติดทางโลก"

    ถานเฉิงงันไป

    ต่อมาอาจารย์ถามเขา "อาจารย์ไป่จ้างหวยไห่สอนอะไรแก่เจ้าอีก?"

    ถานเฉิงตอบว่า "บางครั้งเมื่อเหล่าศิษย์ชุมนุมกัน อาจารย์จะเข้าไปในโถงธรรม แกว่งไม้เรียวของท่าน และไล่พวกศิษย์ออกไปหมด แล้วท่านจะพูดว่า 'นี่คืออะไร?' "

    อาจารย์เย่าซานเหวยเหยี่ยนกล่าวว่า "ไยเจ้าไม่บอกอาตมาเรื่องนี้เสียแต่แรก? เพราะเจ้าแท้ ๆ ตอนนี้อาตมาต้องไปโถงธรรมของท่านไป่จ้างหวยไห่เสียแล้ว"

    ด้วยถ้อยคำนี้ ถานเฉิงก็บรรลุธรรม และโค้งคารวะอาจารย์อย่างนอบน้อม

    ..................

    หลังจากบรรลุธรรม เขาอาศัยที่ภูเขาหวินเอี๋ยน เป็นที่มาของฉายา หวินเอี๋ยนถานเฉิง หรือ ถานเฉิงแห่งภูเขาหวินเอี๋ยน

    หยินหยานถานเสิ้งจากโลกไปในปีที่จักรพรรดิอู่จงเสด็จขึ้นครองราชย์ สี่ปีต่อมาก็ทรงสั่งทำลายวัดพุทธทั้งประเทศ

    ชีวิตก็เช่นการปลูกต้นไม้สองต้นคู่กัน บางครั้งต้นหนึ่งบานสะพรั่ง ต้นหนึ่งเหี่ยวเฉา เมื่อเข้าใจเซน ก็สามารถปล่อยให้ต้นเหี่ยวเฉาเหี่ยวเฉาไป ปล่อยให้ต้นบานสะพรั่ง บานสะพรั่งไป

    .......................

    จาก มังกรเซน ฉบับปรับปรุง (หนังสือเซนที่ต้องค่อยๆ ละเลียด) ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ มังกรเซน + ตัวสุขอยู่ในหัวใจ + เซนที่ไร้เซน + เซนที่ว่างจากเซน (Limited Edition เป็นสมุดเปล่า) สั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ https://www.winbookclub.com/store/detail/213/ชุดหนังสือออกใหม่%202%20แถม%202 หรือ Shopee (ค้นคำ namol113 หรือ วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 17
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    ผมผ่านชีวิตวัยเด็กด้วยนิยายภาพของนักเขียนสองคนคือ จุก เบี้ยวสกุล กับ ราช เลอสรวง

    สองท่านนี้เป็นผู้บุกเบิกนิยายภาพไทยมาตั้งแต่ยุคต้น เขียนภาพด้วยพู่กัน

    งานเด่นๆ ของ จุก เบี้ยวสกุล (จุลศักดิ์ อมรเวช) คือชุดเจ้าชายผมทอง ต่อมาก็วาดอีกหลายชุด เช่น สาวน้อยอภินิหาร เลือดทมิฬ สองชุดหลังตีพิมพ์ในนิตยสารจักรวาลของพนมเทียน เคียงคู่กับงานชุด สิงห์ดำ ของ ราช เลอสรวง (นิวัฒน์ ธาราพรรค์)

    ผมก็ตามอ่านทุกสัปดาห์ โชคดีที่ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่ซื้อ นอกจากอ่านแล้วยังไปแอบเรียนวาดตาม

    วาดตามทุกอย่าง วิธีการเขียนต้นไม้ กระท่อม ไปจนถึงคน

    สองท่านนี้ไม่เรียกตระกูลงานที่ทำว่าการ์ตูน แต่คือนิยายภาพ

    ผมเก็บสะสมงานของสองท่านนี้ไว้จำนวนหนึ่ง ด้วยความหลงใหล เมื่อเข้ากรุงเทพฯครั้งแรก ก็ไปหางานของทั้งสองที่สำนักพิมพ์ผ่านฟ้า และร้านขายนิยายภาพในละแวกนั้น กวาดมาเก็บไว้

    หลังจากนั้นก็ลองวาดนิยายภาพไปขาย โดยรับอิทธิพลการวาดของครู(พักลักจำ)สองท่านนี้มาเต็มที่

    ในปี พ.ศ. 2549 หลังจากเข้าสู่วงการวรรณกรรมแล้ว ผมทำงานทดลองชิ้นหนึ่ง คัดเลือกภาพจากนิยายภาพทั้งหมดของ จุก เบี้ยวสกุล มาสร้างสรรค์เป็นนวนิยายใหม่ ชื่อ โลกใบที่สองของโม แต่งนวนิยายจากภาพของปรมาจารย์

    ถือว่าเป็นการ 'หาเรื่อง' คุยกับนักเขียนนิยายภาพที่ผมชื่นชอบ

    น่าเสียใจที่ จุก เบี้ยวสกุล ไม่ได้อยู่เห็นงานชิ้นนี้เป็นรูปเล่มจริง

    ในวันเปิดงานหนังสือ ผมเชิญ ราช เลอสรวง ไปร่วมเสวนา คุยเรื่องนิยายภาพไทย

    ถือว่าเป็นการ 'หาเรื่อง' พบนักเขียนนิยายภาพที่ผมชื่นชอบเช่นกัน

    ราช เลอสรวง วาดรูปตั้งแต่เด็กหาเงินมาเป็นค่าเทอม และไม่หยุดวาดรูปมาทั้งชีวิต ทั้งที่งานนิยายภาพไทยไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูง ต่างจากนักเขียนในต่างประเทศลิบลับ

    วาดรูปด้วยความรัก วาดด้วยหัวใจ วาดด้วยจิตวิญญาณ

    แต่ทุกสิ่งในโลกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมดจากรุ่นนี้ เราก็จะไม่เห็นลายเส้นแบบเดิมอีก

    ขออำลา-อาลัยครูอีกคนหนึ่งของผม

    วินทร์ เลียววาริณ
    4-5-67

    (ขอบคุณภาพวาดโดย Dinhin Rakpong-Asoke ขออนุญาต ณ ที่นี้)

    0
    • 0 แชร์
    • 21